January 23, 2025

ACE คว้าโรงไฟฟ้าชุมชน 18 โครงการ สู่กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์

ACE ข่าวดียังมีต่อเนื่อง ตอกหมุดศักยภาพผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดตัวจริง คว้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากได้มากสุด รวมทั้งสิ้น 18 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 59 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 50 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กำแพงเพชร บุรีรัมย์ และราชบุรี มั่นใจทุกโครงการช่วยสร้างประโยชน์ให้ชุมชนสูงสุด

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ทำการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) นั้น บริษัทย่อยของ ACE ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 18 บริษัท รวม 18 โครงการ (1 บริษัทย่อยต่อ 1 โครงการ) คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 59.00 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 50.00 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยโครงการที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ทั้ง 18 โครงการ สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นการศึกษาเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน หลัง กกพ. ประกาศรายชื่อฯ โดย กกพ. กําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 36 เดือน นับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ ภายในวันที่ 21 มกราคม 2568

การได้รับคัดเลือกประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของบริษัทฯ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้นำพลังงานสะอาด

"ซึ่งจะช่วยเสริมให้เป้าหมายการเพิ่มกำลังผลิตมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์รุดหน้ามากยิ่งขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการประมูลครั้งนี้ มาจากการที่บริษัทฯ มีประสบการณ์และความสำเร็จในการพัฒนาและดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ และการมีเครือข่ายเกษตรกรและวัตถุดิบชีวมวลและชีวภาพ ตลอดจนความเชี่ยวชาญในการวิจัยพัฒนาพืชพลังงาน รวมถึงข้อเสนอที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างให้เกิดประโยชน์กับชุมชนแต่ละพื้นที่ได้สูงสุด” นายธนะชัย กล่าว

ACE ส่งต่อความห่วงใย มอบถุงสู้โควิด-19 แก่พนักงานและชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า รวม 10,000 ชุด

อนึ่ง นอกจากการดำเนินธุรกิจแล้วที่ผ่านมา ACE ยังตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนความช่วยเหลือแก่พนักงาน ชาวบ้าน หน่วยงานราชการ โรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่อยู่รอบพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดของ ACE ทั่วทุกภูมิภาคมาต่อเนื่อง ทั้งการมอบถุงสู้โควิด จำนวน 10,000 ชุด ซึ่งภายในประกอบด้วยอุปกรณ์ป้องกันทั้งหน้ากากอนามัยและขวดสเปรย์​แอลกอฮอล์​ มอบเตียงสนาม จำนวน 2,000 เตียง มอบอุปกรณ์เครื่องนอนเตียงสนาม เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องมือทางการแพทย์ อาทิ เครื่องสแกนวัดอุณหภูมิ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพอัตโนมัติ ฯลฯ โดยจะยังคงมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือเคียงคู่คนไทยสู้ภัยโควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และพร้อมเป็นกำลังใจให้ทุกคนพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

นอกจากนี้ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (“ทริสเรทติ้ง”) ได้ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรของ ACE เป็นครั้งแรกต่อสาธารณชน โดยอยู่ที่ระดับ “BBB+” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิตที่ระดับ “คงที่ (Stable)” โดยการจัดอันดับเครดิตครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจและสถานะทางการเงินของ ACE ที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงการมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจและแผนการขยายธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำมาซึ่งการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างมั่นคง

“การจัดอันดับเครดิตองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งเงินทุนของบริษัทฯ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนในอนาคตของกลุ่มบริษัทฯ โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกของแหล่งเงินทุนให้บริษัทฯ สามารถที่จะพิจารณาจัดหาเงินทุนด้วยการออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ เช่น หุ้นกู้ หรือ ตั๋วเงิน เป็นต้น ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการและสถานการณ์ต่อไปในอนาคต”

ทั้งนี้ ACE มีการขยายกิจการและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเพิ่งได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) รวม 18 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 59.00 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 50.00 เมกะวัตต์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการมุ่งสู่เป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2567รวมถึงได้รับคัดเลือกให้เข้าคำนวณในดัชนี SET100 รวมถึงดัชนีระดับสากลอย่าง FTSE SET Mid Cap และ FTSE SET Shariah Index โดยองค์กรระดับโลกอย่าง FTSE Russell ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการ อยู่ในเกณฑ์ “ดีมาก” หรือ ระดับ 4 ดาว จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทั้งหมดนี้สอดรับตามวิสัยทัศน์ของ ACE ในการตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านการผลิตพลังงานสะอาดและยั่งยืนต้นแบบของโลกที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้ถือหุ้น ภายใต้หลักธรรมาภิบาล

กลุ่มบริษัท ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว กำลังการผลิตติดตั้งรวม 245.91 เมกะวัตต์ บริษัทได้เตรียมแผนการลงทุนไว้พร้อมแล้ว โดยคาดว่าการลงทุนจะเกิดในช่วงปี 2564-2565 มีมูลค่ารวมประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนที่เตรียมไว้ อาทิเช่น เงินทุนที่ได้รับจากการขายหุ้น IPO สินเชื่อโครงการจากสถาบันการเงิน กระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท วงเงินสินเชื่อของกลุ่มบริษัทที่มีกับสถาบันการเงิน รวมทั้งการออกหุ้นกู้ในอนาคต เป็นต้น

แผนภาพแสดงกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบ Direct Incineration ของ ACE

นอกจากนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลโชคชัย จ. นครราชสีมา ได้ประกาศให้ บริษัท แอ๊บโซลูท เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ถือหุ้น 90% เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิดแบบ Waste to Energy (WTE) ขนาดรองรับปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนไม่น้อยกว่า 466.96 ตันต่อวัน ภายใต้สัญญาโครงการแบบ Build-Own-Operate (BOO) มีอายุ 25 ปี โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 8.0 เมกะวัตต์

“การได้มาซึ่งสัญญาการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน 2 แห่งนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าในกลุ่มโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของบริษัทฯ เป็น 4 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 31.8 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ธุรกิจที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดของบริษัทฯ ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตรวมให้กับบริษัทฯ แล้ว ยังสามารถช่วยจัดการปัญหาขยะตกค้างให้กับชุมชนและประเทศชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเชียงหวาง และโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโชคชัย หากได้รับสัญญา PPA ตามที่คาดไว้คือ 8 เมกะวัตต์ ในราคาแบบ FiT (5.78 บาทต่อหน่วย) คาดจะช่วยเพิ่มรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับบริษัทฯ ได้อีกปีละประมาณ 380 ล้านบาทต่อโรงไฟฟ้า ซึ่งยังไม่รวมค่าบริหารจัดการขยะตามสัญญา”

โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ACE มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่ทำการ COD จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรียบร้อยแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กำลังการผลิตติดตั้งรวม 9.9 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งถือเป็นโมเดลต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดอุบลราชธานี ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยเทคโนโลยีกังหันไอน้ำ ในการขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้า และใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นนำประเภท Multi Fuel Type แบบ High Moisture Content สามารถรองรับเชื้อเพลิงแบบผสมผสานได้หลากหลาย บริหารและดำเนินงานภายไต้บริษัทย่อย คือ บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีน เพาเวอร์ จำกัด โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบนำความร่วมมือชุมชนกับผู้ประกอบการ อีกด้วย



รับข่าวสารก่อนใคร ฉับใวถึงมือคุณ
เพิ่มเราเป็นเพื่อน แอดไลน์ @610nusdc
เพิ่มเพื่อน

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 11 December 2021 16:28
วาสนา วัฒนทรงธรรม

Author : เกาะติดข่าวสารวงการพลังงานในทุกมิติ ทั้งไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว รวมถึงข่าวอื่นๆ ทั้งเรื่องของนวัตการรม การลงทุน หรือมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐ ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM