IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เข้าลงทุนในบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซลและผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลไทยมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ
ซึ่งได้วางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอล โดยมีเป้าหมายภายในปี 2579 ปริมาณการผลิตเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมันเบนซินจะอยู่ที่ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2560 ที่มีปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.91 ล้านลิตรต่อวัน โดยตั้งแต่ปี 2550-2560 ปริมาณการใช้เอทานอลมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 19.8
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไทยมีศักยภาพและพร้อมลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 5.79 ล้านลิตร จากฐานการผลิตรวม 26 โรงงาน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล โดยในปี 2560 มีปริมาณกากน้ำตาลที่เหลือจากการบริโภค และสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้ประมาณ 5.00 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.79 ล้านตัน ในปี 2562 ซึ่งกากน้ำตาลดังกล่าวสามารถนำมาผลิตเอทานอลได้ประมาณ 3.29 ล้านลิตรต่อวันในปี 2560 และ 3.81 ล้านลิตรต่อวันในปี 2562 ดังนั้น อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบที่เพียงพอที่จะสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงให้มากขึ้น
ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของประเทศ เราพร้อมลงทุนขยายกำลังการผลิตเพื่อสนับสนุนภาครัฐที่มีเป้าหมายผลักดันการใช้เอทานอลเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน เนื่องจากเรามีความมั่นคงด้านวัตถุดิบจากกากน้ำตาลที่สามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลในปริมาณมากพอ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีบีจีไอ กล่าวว่า จากข้อมูลในระหว่างปี 2556-2560 ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอลในอัตราส่วนร้อยละ 85) ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีอัตราการผสมเอทานอลสูงที่สุด เพิ่มขึ้นจาก 141.57 ล้านลิตรต่อปี เป็น 383.36 ล้านลิตรต่อปี และปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอลในอัตราส่วนร้อยละ 20) เพิ่มขึ้นจาก 962.73 ล้านลิตรต่อปี เป็น 1,903.26 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลในยานยนต์ให้มากขึ้น โดยต้องมีแนวปฏิบัติและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อผลักดันปริมาณการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด
สำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.6 ต่อปี ในระหว่างปี 2550 – 2560 และมีน้ำมันปาล์มดิบที่เพียงพอต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมไบโอดีเซล สามารถรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงในกลุ่มน้ำมันดีเซลที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ภาคเอกชนจึงอยากเห็นมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลในอัตราส่วนร้อยละ 10) แทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลในอัตราส่วนร้อยละ 7) ในเชิงพาณิชย์จากภาครัฐที่ชัดเจนขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ไบโอดีเซลและรักษาสมดุลปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนในช่วงที่น้ำมันอยู่ในทิศทางขาขึ้น รวมถึงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
"เราอยากเห็นแนวทางที่ชัดเจนของภาครัฐในการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลและไบโอดีเซลให้มากขึ้น เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้งานในระยะยาว" นายชลัช กล่าว