November 22, 2024

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

“ไทยซัมมิท”บุกชิ้นส่วนรถอีวี พุ่งเป้าแอฟริกาไต่ระดับโลก

“ไทยซัมมิท” บุกรถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ ชูเทคโนโลยีชิ้นส่วน “น้ำหนักเบา” ตอบโจทย์ลูกค้าอนาคต ต่อยอดนวัตกรรม-จับเทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์ ปรับทัพสปีดหนีเวียดนาม-อินโดฯ “ธนาธร” เผยกำไรปีนี้ 5.9 พันล้านทุบสถิติใหม่ของบริษัท ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย 1.1 แสนล้าน ขยายฐานการผลิตเปิดหน้าต่างสู่เซาท์แอฟริกา-ยุโรปปี 2561

จากการเติบโตทางธุรกิจของบริษัท ไทยซัมมิท ออโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด หรือไทยซัมมิท กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะมีการขยายฐานการผลิตในประเทศ และลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายประเทศ ล่าสุดยังร่วมมือกับบริษัทเทสล่า อิงก์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก โดยได้สัญญาการผลิตโครงสร้างตัวถังรถยนต์น้ำหนักเบาให้แก่เทสล่าด้วยนั้น

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับธุรกิจของไทยซัมมิท กรุ๊ป ว่าตนเองมองอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า 2.ระบบโมบิลิตี้ หรือคาร์ออนดีมานด์ และ 3.ระบบออโตเมชั่น ซึ่งจะเป็นแนวหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนับจากนี้กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท จะขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อตอบสนองแนวทางความต้องการดังกล่าวให้ได้

นายธนาธรกล่าวว่า บริษัทจะเน้นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือคอร์บิสซิเนส เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่วันนี้ต้องการเรื่องน้ำหนักที่เบาขึ้น หลังจากบริษัทได้ใช้งบประมาณ 400-500 ล้านบาท เพื่อจัดทำห้องทดสอบ ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาและต่อยอดกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังวิ่งเข้ามา

โดยล่าสุดไทยซัมมิทเพิ่งได้รับงานผลิตตัวถังรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาป้อนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เทสล่า ของสหรัฐอเมริกา เป็นรถเทสล่า โมเดล 3 เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังผลิต 500,000 คันต่อปี โดยจะใช้โรงงานของไทยซัมมิท ในรัฐมิชิแกนและเคนทักกีเป็นฐานการผลิต

ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์รู้ดีว่า 3 ส่วนหลักที่กล่าวมาจะต้องพัฒนาและเดินไปสู่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือบริหารจัดการ จัดสรรทรัพยากรบุคคล เวลา ผู้บริหาร และเงินทุนทั้งหมดไปตรงนี้ เชื่อว่ายังมีช่องว่างในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ตรงนี้อีกมาก ตรงนี้เองจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นเทียร์ 1 รวมทั้งไทยซัมมิทเองด้วย

“ดังนั้น ไทยซัมมิทจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อเสริมบทบาทของการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเป้าการลงทุนในประเทศไทยนั้น ช่วงเวลา 3-5 ปีจากนี้ จะยังไม่มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต เนื่องจากเมื่อปี 2555 บริษัทและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการลงทุนด้านกำลังผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถที่ระดับ 1.2 ล้านคันต่อปีไปแล้ว และปัจจุบันก็ใช้กันเพียง 60-70% ของกำลังผลิตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทวางเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจขึ้นสู่ปีที่ 41 และในอีก 5 ปีข้างหน้า (2560-2565) ให้ก้าวไปสู่เป้าหมายรายได้ระดับ 1.1 แสนล้านบาท จากนโยบายการพัฒนา 3 ด้านหลักคือ 1.นวัตกรรม 2.ทักษะความรู้ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เรามีการเติบโตของบริษัทอยู่ที่ 8% ซึ่งคิดว่าค่อนข้างดีถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมที่มีอยู่” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวอีกว่า กลุ่มไทยซัมมิทยังมีแผนจะลงทุนขยายฐานการผลิตไปที่เซาท์แอฟริกาในปี 2561 สาเหตุที่เลือกไปที่นั่นคิดว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในแง่ของการผลิตระดับโลก และเซาท์แอฟริกาเป็นหน้าต่างของทวีปแอฟริกาไปถึงยุโรปด้วย มีสัญญาการค้าเสรีกับยุโรป เวลานี้ส่งทีมไปศึกษาหลายรอบแล้ว กำลังรอสรุป

“ต้องบอกว่าปีนี้ (2560) ถือเป็นปีที่ดีของกลุ่มไทยซัมมิท และเป็นปีที่ภูมิใจขององค์กร ทั้งในแง่ของยอดขายและผลประกอบการ เป็นสถิติใหม่ของบริษัท โดยยอดขายปีนี้อยู่ที่ 79,800 ล้านบาท ผลกำไร 5,980 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาส่งเสริม เพิ่มประสิทธิภาพ ในการพัฒนาทั้ง 3 ด้านข้างต้น” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรยอมรับว่า แม้บริษัทจะเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้าน แต่ก็ประสบปัญหาด้านราคาที่ถูกกดดันจากประเทศกำลังพัฒนาเกิดใหม่ ทั้งเวียดนาม, อินโดนีเซีย, อินเดีย ส่วนด้านนวัตกรรมถูกกดดันจากยุโรปและญี่ปุ่น ดังนั้น สิ่งสำคัญของไทยซัมมิทคือ ต้องค้นหาศักยภาพของตัวเองให้เจอ นอกจากนี้ กลุ่มไทยซัมมิทยังตั้งเป้าให้พนักงานทำยอดขายต่อคนต่อปีขยับจาก 2 ล้านบาทเป็น 3.6 ล้านบาทภายในปีนี้ และปี 2565 จะต้องเพิ่มเป็น 5 ล้านบาทต่อคนต่อปี

สำหรับกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศไทย มีฐานการผลิตครอบคลุมพื้นที่อุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ได้แก่ แหลมฉบัง, ระยอง, นครนายก และสมุทรปราการ รวมไปถึงฐานการผลิตในต่างประเทศได้แก่ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, อเมริกา และเวียดนาม ปัจจุบันมีบริษัทในเครือรวมกว่า 40 บริษัท ครอบคลุมการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ เช่น ชิ้นส่วน การขึ้นรูป, ชิ้นส่วนการประกอบ, ชิ้นส่วนพลาสติกประเภทฉีดและเป่า, อะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูป, ระบบไฟสำหรับยานยนต์, แม่พิมพ์โลหะและพลาสติก, อุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน เป็นต้น

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 23 October 2018 11:43
ประยูร ศรีวิชัยศร

Author : เกาะติดทุกเรื่องราวในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์, การผลิต, อะใหล่, การประกอบ, การทำตลาด, รีวิว, นวัตกรรม, การประกันภัย, รถมือสอง, ยาง, งานมอเตอร์โชว์ นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ฯลฯ

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM