January 18, 2025

นักวิชาการกรมประมง…เจ๋ง ! เพาะพันธุ์ “ปลารากกล้วยจินดา” สำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย

กรมประมง ใช้เวลาเพียง 6 เดือน สามารถเพาะพันธุ์ “ปลารากกล้วยจินดา” สำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย หลังพบในธรรมชาติเสี่ยงสูญพันธุ์ เผยเตรียมปล่อยลงสู่ธรรมชาติ

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลำปาง

สามารถเพาะพันธุ์ “ปลารากกล้วยจินดา” ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะปลารากกล้วยจินดา จัดเป็นปลาพื้นถิ่นของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันจัดอยู่สถานภาพสุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ พบได้น้อยมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ

เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ยังถูกจับขึ้นมาขายเป็นเมนูขึ้นโต๊ะประจำร้านอาหารมากมาย เช่น ปลารากกล้วยทอด หรือ ปลารากกล้วยแดดเดียว เนื่องจากเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย ประชาชนนิยมรับประทานมาก จึงเป็นเหตุให้ปลารากกล้วยจินดาในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว


การรวบรวมพ่อแม่พันธ์ุ
 

โดยกรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบต่อการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้มีอยู่อย่างยั่งยืน ได้มีนโยบายในการจัดทำโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่น และสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดให้คงความหลากหลายอยู่แล้ว จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาและทดลองเพาะพันธุ์ปลารากกล้วยจินดา โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน ก็สามารถศึกษาและเพาะพันธุ์ได้สำเร็จ โดยแนวทางการดำเนินการต่อไปจะนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูประชากรปลารากกล้วยจินดาในธรรมชาติให้เกิดสมดุลในระบบนิเวศน์ต่อไป ที่สำคัญถือเป็นปลาที่เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำนั้นๆ ด้วย ส่วนการที่จะผลักดันให้เป็นปลาปลาเศรษฐกิจประจำถิ่น เนื่องจากมีราคาสูงถึง 300 – 400 บาท ต่อกิโลกรัม หรือไม่นั้น อนาคตเราต้องศึกษาถึงความคุ้มทุนก่อนว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงไร

นายสง่า ลีสง่า ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ได้กล่าวเสริมในรายละเอียดว่า สำหรับ “ปลารากกล้วยจินดา” (Acantopsis thiemmedhi : Sontirat,1999) หรือ รากกล้วยแม่ปิง หรือ ซ่อนทราย เป็นปลาที่มีลักษณะรูปร่างเพรียวยาว ประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างกลม มีจะงอยปากยาวแหลม มีหนวดสั้นๆ 3 คู่ มีหนามแหลมอยู่ใต้ตา ตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ผิวหนังเรียบและมีเมือกคลุม ส่วนหัวด้านบน และลำตัวมีจุดสีดำขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากปลารากกล้วยชนิดอื่นที่มีหน้ายาวและจุดขนาดเล็กกว่า มีจำนวนครีบหลัง 10 ก้าน ครีบหางเว้าตื้นและมีแต้มดำ ชอบอาศัยอยู่อาศัยในแม่น้ำบริเวณที่มีพื้นท้องน้ำที่เป็นทราย โดยเฉพาะพบบริเวณแถบลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา


การเพาะพันธุ์

สำหรับการเพาะพันธุ์ปลารากกล้วยจินดา ภายใต้โครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นและสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ ประจำปี 2561 นายอรรถพล โลกิตสถาพร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลำปาง ซึ่งเป็นผู้ที่เพาะพันธุ์ปลารากล้วยจินดาได้นั้น กล่าวถึงกระบวนการเพาะพันธุ์ว่า ศูนย์น้ำจืดฯ ลำปาง ได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์ปลารากกล้วยจินดาในธรรมชาติ มาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2561 ในพื้นที่ลำห้วยสาขาต้นน้ำวัง อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ ของจังหวัดลำปาง ซึ่งได้มาทั้งหมด 77 ตัว โดยนำมาเลี้ยงไว้จนกระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบปลามีความสมบูรณ์เพศทั้งเพศผู้และเพศเมีย จึงได้ทดลองเพาะพันธุ์ครั้งแรกได้ลูกปลา จำนวน 40 ตัว และได้ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมทดลองเพาะพันธุ์ต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง จนปัจจุบันมีอัตราการรอดและได้ลูกพันธุ์รวมแล้ว จำนวน 5,500 ตัว ซึ่งทางหลักวิชาการถือว่าประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ ที่สำคัญ จากการตรวจสอบเอกสารวิชาการของไทยเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ ยังไม่พบว่ามีผู้ใดเพาะพันธุ์ปลาดังกล่าวได้สำเร็จ จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถเพาะพันธุ์ปลารรากกล้วยจินดาได้สำเร็จ โดยคาดว่าในช่วงต้นเดือนกันยายน จะร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ในการนำลูกพันธุ์บางส่วนไปปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำที่ไปรวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาเพื่อคงความหลากหลายและเพิ่มปริมาณประชากรปลารากกล้วยจินดาให้มากขึ้น อีกทั้ง เป็นการให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีร่วมในกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูดูแลและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นถิ่นของตน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 20 October 2018 14:18
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM