IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
รายงานฉบับใหม่ของเอคเซนเชอร์ (NYSE: ACN) เผยว่าราว 3 ส่วน 4 (ร้อยละ 72) ของผู้บริโภคในประเทศไทยจะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ข้อมูลตำแหน่ง (location) และการใช้ชีวิต (lifestyle) กับธนาคารและบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ เพื่อแลกกับราคาผลิตภัณฑ์และบริการที่ลดลง
ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งงานวิจัยผู้บริโภคในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services Consumer Study) ที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 47,000 คนใน 28 ประเทศ รายงานนี้ยังพบด้วยว่า
กว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคไทยจะยินยอมให้ข้อมูลดังกล่าวเมื่อได้ประโยชน์ เช่น การอนุมัติสินเชื่อที่รวดเร็วมากขึ้น หรือได้ส่วนลดในการสมัครสมาชิกสถานออกกำลังกาย หรือได้รับข้อเสนอที่ตรงใจเมื่อไปเยือนตำแหน่งหรือโลเกชั่นปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่เชื่อว่าการรักษาความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยมีมากกว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภค (ร้อยละ 83) ที่กล่าวว่า พวกเขาระมัดระวังมาก ๆ เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตน อันที่จริงแล้ว ประเด็นการละเมิดความปลอดภัยของข้อมูลเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคในไทยเป็นกังวลที่สุด ซึ่งเชื่อมโยงกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อพวกเขาถูกถามถึงปัจจัยที่จะทำให้เลิกใช้บริการธนาคารหรือบริษัทประกันเดิม
“มีความสนใจต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์บุคคลมากขึ้น ซึ่งตรงจุดตามข้อมูลการเงินของผู้บริโภค” นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว
“การที่คนจำนวนมากยอมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวแลกกับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในราคาที่ดีกว่าเดิมนั้น แสดงให้เห็นชัดว่า เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อการจำหน่ายและให้บริการทางการเงินในประเทศนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถาบันการเงินจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอันดับแรก หากต้องการเจาะความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้า เพราะถ้าผู้บริโภคไม่เห็นว่า ข้อเสนอหรือผลิตภัณฑ์ใดจากธนาคารหรือบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ มีการพัฒนาให้ตอบโจทย์หรือเหมาะกับตน พวกเขาก็พร้อมที่จะมองหาทางเลือกที่อื่นแทน”
ผู้บริโภคไทยแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยร้อยละ 87 สนใจรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ปรับตามประวัติการขับขี่อย่างปลอดภัย และร้อยละ 73 ยอมแลกกับเบี้ยประกันชีวิตที่มีส่วนช่วยให้มีไลฟ์สไตล์ที่ดูแลสุขภาพ ซึ่งคนไทยเลือกตัวเลือกเหล่านี้เป็นอัตราสูงที่สุดในโลก สำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95) จะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัว รวมทั้งข้อมูลรายได้ โลเกชั่นและนิสัยในการใช้ชีวิตกับบริษัทประกันที่ใช้บริการอยู่ หากจะช่วยให้โอกาสการบาดเจ็บและสูญเสียลดลง
ในแวดวงธนาคาร พบว่าร้อยละ 94 ของลูกค้าจะยินยอมให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ โลเกชั่น และนิสัยในการใช้ชีวิต เพื่อแลกกับการได้รับอนุมัติสินเชื่อโดยเร็ว และร้อยละ 93 จะยอมแลกกับการได้รับข้อเสนอที่ตอบโจทย์ของแต่ละคน ณ ตำแหน่งปัจจุบัน เช่น ส่วนลดต่าง ๆ จากร้านค้าปลีก เป็นต้น ทั้งนี้ ราว 3 ส่วน 4 (ร้อยละ 77) ของผู้บริโภคต้องการให้ธนาคารของพวกเขาแจ้งจำนวนเงินล่าสุดที่มีไปจนถึงวันเงินเดือนออกครั้งถัดไป และร้อยละ 78 ต้องการเคล็ดลับการออมที่สอดคล้องกับนิสัยการจับจ่าย
“ผู้บริโภคไทยยินดีให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ หากเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และทำให้ได้รับบริการและข้อเสนอที่ตรงจุด และยินดียิ่งกว่าผู้บริโภคอื่น ๆ ในโลก แสดงให้เห็นโอกาสมหาศาลสำหรับธนาคารและบริษัทประกันในประเทศนี้” นายนนทวัฒน์กล่าว “แม้จะมีโอกาสและศักยภาพสูงในประเทศไทย แต่ธนาคารและบริษัทประกันก็ต้องใส่ใจประเด็นข้อกังวลที่มีมากขึ้น ด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล โดยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นอันดับแรกในเวลาที่ลงทุนไปกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ”
ความสนใจให้ข้อมูลแตกต่างกันไปทั่วโลก
ความสนใจให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญกับบริษัทด้านการเงินในจีนและอินเดีย มีในระดับสูง โดยร้อยละ 67 และ 69 ของผู้บริโภคในสองประเทศนี้ตามลำดับ จะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นเพื่อแลกกับการได้รับการบริการที่ตอบโจทย์ส่วนบุคคล อัตราส่วนนี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถึงร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสำรวจในอินโดนีเซีย และร้อยละ 74 ในประเทศไทยที่จะยินยอมให้ข้อมูลดังกล่าว ส่วนในสหรัฐฯ มีผู้บริโภคเพียงครึ่งเดียว (ร้อยละ 50) และมีเพียงร้อยละ 42 ในออสเตรเลีย ที่ยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพิ่มขึ้นแลกกับบริการที่ตอบโจทย์ส่วนบุคคล ในขณะที่ในยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation) ใช้บังคับเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น พบว่าผู้บริโภคมีความคลางแคลงต่อการให้ข้อมูล ตัวอย่างเช่น มีเพียงร้อยละ 40 ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรและเยอรมนีที่กล่าวว่า พวกเขาจะยินดีให้ข้อมูลกับธนาคารและบริษัทประกันมากขึ้น เพื่อแลกกับบริการที่ตอบโจทย์ส่วนบุคคล
สำหรับรายงานฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ accenture.com/FSConsumerStudy2019
วิธีการวิจัย
เอคเซนเชอร์ได้ทำการสำรวจไปยังผู้ตอบ 47,000 รายใน 28 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา ชิลี จีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง โคลัมเบีย ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยผู้ตอบคำถามทุกคนต้องมีบัญชีธนาคารและกรมธรรม์ประกันภัย และกระจายครอบคลุมกลุ่มคนหลายยุคและระดับรายได้ การสำรวจนี้ จัดทำขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2561
เกี่ยวกับเอคเซนเชอร์
เอคเซนเชอร์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ดิจิทัล การบริหารเทคโนโลยีและการปฏิบัติการชั้นนำของโลก และด้วยประสบการณ์ การทำงานอย่างลึกซึ้ง ผนวกกับศักยภาพที่สมบูรณ์แบบในกว่า 40 อุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทุกสายงานของธุรกิจ พร้อมด้วยเครือข่ายการให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เอคเซนเชอร์สามารถร่วมมือกับลูกค้า เชื่อมต่อธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ยกระดับองค์กรของลูกค้าให้เป็นองค์กรที่มีศักยภาพและสมรรถภาพสูง สามารถสร้างคุณค่าอันยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นได้ ปัจจุบันเอคเซนเชอร์ มีพนักงานประมาณ 477,000 คนในกว่า 120 ประเทศ เอคเซนเชอร์มุ่งพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานมีคุณภาพดีขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.accenture.com