IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
ดร.สันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม องค์ปาฐกถา ได้มีคำกล่าวในเรื่องนี้ว่า " ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คำว่า Blockchain เป็นคำที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เริ่มต้นจากวงการคอมพิวเตอร์ ไปสู่วงการทางการเงิน และในปัจจุบัน คำว่า Blockchain เป็นคำที่ถูกพูดถึงในทุกวงการ เพราะเชื่อกันว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกได้แบบเดียวกับที่อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
ซึ่งโดยหลักคิดของเทคโนโลยี Blockchain จะแตกต่างจากแนวคิดในรูปแบบระบบรวมศูนย์ หรือ Centralization ที่มีศูนย์กลางในการควบคุมส่วนต่างๆ ของระบบ แต่หลักแนวคิดของเทคโนโลยี Blockchain จะมีวิธีคิดแบบระบบกระจายศูนย์ หรือ Decentralization
นอกจากนี้ หลักการสำคัญของ Blockchain คือ การทำให้ทุกหน่วยในเครือข่ายมีการเชื่อมต่อกันและกระจายกันดูแลข้อมูลที่แต่ละหน่วยจะมีข้อมูลเหมือนกันซึ่งหมายความว่าทุกกิจกรรม หรือ ทรานแซ็กชั่น( Transaction)ที่เกิดขึ้นในระบบจะต้องเป็นทรานแซ็กชั่นที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว และ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ ทุกหน่วยจึงมีสิทธิ์ตรวจสอบความถูกต้องและประมวลผลด้วยตัวเองตลอดเวลา"
ดร.สันติ กีระนันท์ ยังกล่าวอีกว่า "ด้วยรูปแบบนี้ ทำให้ระบบที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้มีความเสถียรและมั่นคงสูง เพราะหากจะแฮกเครือข่าย Blockchain ให้ได้ต้องเจาะระบบของเครื่องในเครือข่ายให้ได้เป็นจำนวนมาก เหตุนี้อุตสาหกรรมในภาคธุรกิจต่างๆ จึงหันมาใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้น จากข้อมูลสถิติเรื่องมูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain พบว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินที่แสดงความสนใจทั้งด้านการวิจัยพัฒนาระบบ และการร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ เนื่องจากธุรกรรมการชำระเงินจะได้รับผลกระทบค่อนข้างชัดเจนในฐานะที่เทคโนโลยี Blockchain สามารถเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการจัดการการแลกเปลี่ยนมือได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำกว่า ระบบชำระเงินที่ใช้กันอยู่ รวมถึงการลดบทบาทของตัวกลางออกไป ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจของ World Economic Forum (WEF) คาดว่า ภาครัฐของประเทศต่างๆ จะนำร่องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ก่อนภายในปี ๒๐๒๓ และจะนำมาใช้อย่างแพร่หลายภายในปี ๒๐๒๗ ดังนั้น เทคโนโลยีบล็อกเชน จึงเป็นสิ่งที่มีอนาคต และหากสามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการ องค์กรและระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นไปได้ "
นายทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท สื่อดี จำกัด บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร MBA ผู้ร่วมจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า "เพราะในขณะนี้ เป็นที่ล่วงรู้กันดีว่า เทคโนโลยีได้เข้ามาอิทธิพลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อ สังคมและเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยี บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความยอมรับและเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกล่าวขานกันว่า บล็อกเชน จะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีรุ่นเก่า
เราจะเห็นกรณีตัวอย่างต่างๆ มากมายในโลกที่มีการนำ บล็อกเชน มาประยุกต์ใช้ทั้งใน Real Sector โดยเงินลงทุนในโลกขณะนี้ ลงมาในเซ็กเตอร์นี้มีจำนวนมาก ทั้งในเชิงของกิจการยักษ์ใหญ่ เช่น อาลีบาบา ไอบีเอ็ม อมาซอน หรือ consortium ของธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจทั่วโลก และในเชิงของ Venture Capital ที่ทุ่มเทเงินมาลงทุนใน Theme นี้กันมากในรอบสองปีมานี้ "
นายทักษ์ศิล ยังกล่าวอีกว่า "สำหรับ เทคโนโลยี บล็อกเชน ที่เห็นความเติบโตและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้ว คือ ในภาคของ Cryptocurrencies รวมไปถึงการ ระดมทุนในรูปแบบ ICO ที่แม้แต่ สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของประเทศไทย ก็ได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อรับรองว่า เทคโนโลยี บล็อกเชน สามารถเป็นเครื่องมือที่ยอมรับได้ในการระดมทุนในปีนี้ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นรูปแบบการระดมทุนในรูปแบบ Initial coin offering ( ICO) ที่ผ่านการพิจารณาตามกฎเกณฑ์ เป็นที่ยอมรับ และเป็นกลไกที่สร้างสรรค์ และเป็นโอกาสสำหรับองค์กร หรือผู้ประกอบการ ที่ไม่เพียงรายใหญ่ แต่ยังหมายถึงรายเล็ก รายน้อยที่มีศักยภาพ หรือแม้แต่ Social Enterprise และโครงการจิตอาสา ที่จะเข้ามาใช้เป็นช่องทางในการพัฒนาโอกาสในการสร้างความเติบโตและความเจริญก้าวหน้าให้กับกิจการ องค์กรและสังคมเศรษฐกิจของประเทศชาติได้"
นายปฐม อินทโรดม CEO บริษัท สยามไอซีโอ จำกัด กล่าวว่า บริษัทสยามไอซีโอจำกัด ถือกำเนิดขึ้นมาจากความร่วมมือของคุณทักษศิล ฉัตรแก้วเจ้าของนิตยสารเอ็มบีเอซึ่งเป็นสื่อธุรกิจชั้นนำของไทยและคุณโดม เจริญยศแห่งบริษัทโดมคลาวด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจบล็อคเชนระดับแนวหน้าของไทย กับคุณคณิต ศาตะมานและคุณปฐม อินทโรดม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงไอทีมายาวนานกว่า 20 ปี การก่อตั้งสยามไอซีโอจึงเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญในแวดวงธุรกิจบล็อคเชนของไทย
"การวมตัวกันครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของวงการบล็อคเชนไทย โดยประกาศความพร้อมในการเป็นผู้ให้บริการเอนเตอร์ไพรซ์บล็อคเชนโซลูชั่น พร้อมเน้น "รีเวิร์สไอซีโอ" เพื่อระดมทุนผ่านไอซีโอให้กับบริษัทมหาชนที่มีนวัตกรรมและต้องการลงทุนในธุรกิจใหม่ ต่อยอดให้กับธุรกิจเดิมที่ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนอยู่แล้ว"นายปฐมกล่าว
นายปฐม กล่าวในตอนท้ายว่า สยามไอซีโอพร้อมให้บริการด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล หรือดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านบล็อคเชน บิ๊กดาต้า เอไอ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการระดมทุนผ่านไอซีโอ โดยให้คำแนะนำในการสร้างระบบดิจิทัลอีโคซีสเต็มส์ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยเน้นการทำรีเวิร์สไอซีโอ เพื่อทำไอซีโอให้กับบริษัทมหาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ สยามไอซีโออยู่ระหว่างการจดทะเบียนเป็นไอซีโอพอร์ทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินธุรกิจไอซีโอพอร์ทัลตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. โดยมีไอซีโอที่ดำเนินการเป็นที่ปรึกษาให้อยู่ในปัจจุบันแล้ว 3-5 โครงการ และตั้งเป้าอีก 15 โครงการในปี 2562