IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
เนื่องในโอกาสวันแรดโลก (World Rhino Day) องค์กรด้านการอนุรักษ์นานาประเทศได้ประกาศโครงการความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรเพื่อช่วยเหลือแรดสุมาตราไม่ให้สูญพันธุ์ ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนโครงการขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์แรดสุมาตราของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์ (Species Survival Commission) ภายใต้สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก มูลนิธิแรดสากล เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
แรดสุมาตรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเสี่ยงสูญพันธ์ โดยปัจจุบันแรดพันธุ์ดังกล่าวหลงเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 80 ตัวทั่วโลก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ แรดสุมาตราจะต้องสูญพันธุ์ในไม่ช้า
ภายหลังจากที่มีการล่าสัตว์และสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดสำหรับแรดสุมาตราคือระยะทางระหว่างกลุ่มประชากรแรดซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด เมื่อไม่สามารถหาคู่ผสมพันธุ์ได้ แรดสุมาตราวัยเจริญพันธุ์จำนวนมากจึงเสี่ยงมีภาวะเป็นหมันเนื่องจากต้องอยู่เพียงลำพังเป็นระยะเวลานานเกินไป ด้วยประชากรแรดที่กระจายตัวทั่วเกาะขนาดใหญ่จำนวน 2 เกาะในอินโดนีเซียในปัจจุบัน ความหวังที่แรดชนิดนี้จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักอนุรักษ์ในการค้นหาและเคลื่อนย้ายแรดไปยังศูนย์เฉพาะทางที่ออกแบบขึ้นมา เพื่อดูแลแรดเหล่านี้โดยเฉพาะ
Jon Paul Rodríguez ประธานคณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ภายใต้สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวว่า "ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้ไม่สามารถคลี่คลายให้สำเร็จได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง โดยในส่วนของคณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์นัน เรามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและแตกต่าง เรามั่นใจว่า เราจะได้เห็นแรดสุมาตรากลับมาโลดแล่นอีกครั้ง"
Wiratno ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการป่าไม้ รัฐบาลอินโดนีเซีย กล่าวว่า "การให้ความช่วยเหลือแรดสุมาตราไม่ให้สูญพันธุ์นั้น เป็นพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลอินโดนีเซีย ด้วยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์ ตลอดจนหน่วยงานราชการและชุมชนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และสร้างความตระหนักรู้ เราได้เตรียมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อพิทักษ์แรด ซึ่งมุ่งเน้นไปที่โครงการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์แห่งชาติ โครงการช่วยเหลือแรดสุมาตราจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเรายินดีน้อมรับการสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้จากองค์กรต่างๆทั่วโลก"
นับตั้งแต่ที่ได้มีการเริ่มขบวนการเพื่อการอนุรักษ์ดังกล่าว องค์กรและนักวิจัยได้พยายามปกป้องสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม บางครั้งองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ต้องมาแข่งขันกันเองในเรื่องการระดมทุน ทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และการเข้าถึงสัตว์ที่องค์กรต้องการให้ความช่วยเหลือ ปฏิบัติการช่วยเหลือแรดสุมาตราจึงเป็นโครงการที่ช่วยรวบรวมองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ทั้งของอินโดนีเซียและนานาชาติ เพื่อวางแผนและร่วมมือกันช่วยเหลือแรดสุมาตรา โดยร่วมมือกับพันธมิตรและรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อกำจัดอุปสรรคต่างๆนานาข้างต้น
Barney Long ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายอนุรักษ์สายพันธุ์ องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก กล่าวว่า "เป้าหมายร่วมของเราในการริเริ่มโครงการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์โดยการรวบรวมสัตว์ที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ในธรรมชาติ จะนำไปสู่สิ่งที่ผมอยากจะเห็นในชั่วชีวิตนี้ ซึ่งก็คือการดำรงอยู่ของแรดสุมาตรารุ่นต่อไป"
โครงการช่วยเหลือแรดสุมาตรา จะส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์และดูแลแรดใน 3 ด้าน ได้แก่
- การสร้างศูนย์ดูแล: จัดตั้งเขตอนุรักษ์แรดสุมาตรา จำนวน 2 แห่งในอินโดนีเซีย แห่งแรกอยู่ที่เกาะเบอร์เนียว และอีกแห่งอยู่ที่เกาะสุมาตราเหนือ ตลอดจนขยายอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติเวย์ แคมบัส ที่มีอยู่เดิม
- การค้นหาและช่วยเหลือ: ดำเนินปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ เพื่อเคลื่อนย้ายแรดสุมาตราที่แยกจากฝูงไปยังศูนย์ขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ที่จัดไว้
- การปกป้องดูแล: รวบรวมแรดเพื่อเข้าสู่โครงการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์โดยใช้เทคโนโลยีการสัตวแพทย์และสัตวบาลใหม่ล่าสุด ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรแรดให้ได้มากที่สุด
Rizal Malik ซีอีโอกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า "การวิจัย การฝึกอบรม และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ช่วยให้การร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด และเป็นโอกาสเดียวที่แรดสุมาตราจะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้"
Susie Ellis กรรมการบริหารมูลนิธิแรดระหว่างประเทศ กล่าวว่า "เราใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 12 ปีเพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์แรดสุมาตราภายในบริเวณที่จำกัด นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคซึ่งพัฒนาขึ้นที่สวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ซินซินนาติ และนำมาใช้ที่เขตอนุรักษ์แรดสุมาตราในอุทยานแห่งชาติเวย์ แคมบัส มูลนิธิแรดสากลเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยพลิกสถานการณ์อันเลวร้ายที่แรดสุมาตรากำลังเผชิญอยู่ได้"
ความพยายามที่ทะเยอทะยานเช่นนี้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ดังนั้น การเริ่มต้นกิจกรรมระดมทุนระยะเวลา 3 ปี องค์กรพันธมิตรแต่ละแห่งได้ให้คำมั่นว่า จะบริจาคเงินสนับสนุนหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับกองทุนปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือแรดสุมาตราซึ่งมีทุนอยู่เกือบ 30 ล้านดอลลาร์
Jonathan Baillie รองประธานบริหารและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี กล่าวว่า "นี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแรดสุมาตรา ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักกันเท่าไรนัก และช่วยกันอนุรักษ์วิวัฒนาการที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ล้านปี ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมมือกัน"
ดูข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษาช่องทางการสนับสนุนได้ที่ www.sumatranrhinorescue.org
เกี่ยวกับองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก
องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Conservation - GWC) ทำหน้าที่อนุรักษ์ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล เรามุ่งปฏิบัติตามพันธกิจดังกล่าวผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง การป้องกันอาชญากรรมสัตว์ป่า การฟื้นฟูสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และการสร้างภาวะผู้นำด้านการอนุรักษ์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://globalwildlife.org
เกี่ยวกับมูลนิธิแรดสากล
มูลนิธิแรดสากล (International Rhino Foundation - IRF) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรขนาดเล็ก ซึ่งมีอิทธิพลและมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ด้วยการวิจัย เราได้บริจาคเงินทุนและดำเนินโครงการคุ้มครองและอนุรักษ์แรดในแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยเน้นการทำงานในพื้นที่ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนซึ่งทรัพยากรที่มีค่าจะส่งผลกระทบได้มากที่สุด วิสัยทัศน์ของมูลนิธิแรดสากลตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าสัตว์เหล่านี้ควรดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้การคุ้มครองแรดยังจะส่งเสริมการอยู่รอดของสัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในถิ่นอาศัยเดียวกัน รวมทั้งมนุษย์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rhinos.org Twitter: @rhinosIRF
เกี่ยวกับสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
สหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) เป็นสหภาพซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลและองค์กรเอกชนต่าง ๆ มีหน้าที่ให้ความรู้และเครื่องมือซึ่งส่งเสริมความก้าวหน้าของมนุษย์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ธรรมชาติให้แก่องค์กรทั้งรัฐบาลและเอกชน ด้วยเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญกว่า 8,000 คน คณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ (Species Survival Commission) เป็นคณะกรรมการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ คณะกรรมการความอยู่รอดของสายพันธุ์ช่วยส่งเสริมอิทธิพลของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในการช่วยเหลือสังคมเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานภาพและภัยคุกคามของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดจนให้คำแนะนำ พัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติ ส่งเสริมการวางแผนเพื่ออนุรักษ์ และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iucn.org
เกี่ยวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี
เนชั่นแนล จีโอกราฟิก โซไซตี (National Geographic Society) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรระดับชั้นนำ ซึ่งให้ความสำคัญกับทีมงานคุณภาพและความคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านการสำรวจค้นคว้า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเล่าเรื่อง และการศึกษา ด้วยการมอบทุนและการดำเนินโครงการต่าง ๆ เรามุ่งหวังที่จะสร้างชุมชนแห่งการเปลี่ยนแปลง เพิ่มพูนความเข้าใจที่สำคัญเกี่ยวกับโลกของเรา หาคำตอบให้กับคำถามทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ตลอดจนช่วยให้คนรุ่นต่อไปมีความรู้ทางภูมิศาสตร์และความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เป้าหมายของเราคือก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถจับต้องได้ ได้แก่ การขยายขอบเขตการสำรวจและให้ความรู้แก่ผู้คนทั่วโลกเพื่อคิดค้นทางแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nationalgeographic.org
เกี่ยวกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund - WWF) เป็นองค์กรอนุรักษ์สัตว์อิสระที่มีขนาดใหญ่และได้รับการเคารพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ด้วยผู้สนับสนุนกว่า 5 ล้านรายและเครือข่ายทั่วโลกในกว่า 100 ประเทศและเขตปกครอง พันธกิจขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลคือการยุติความถดถอยของสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติของโลก และสร้างอนาคตซึ่งมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข โดยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทดแทนอย่างยั่งยืน และสนับสนุนการลดมลภาวะและการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ติดตามข่าวสารและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.panda.org/news และติดตามผ่านทางทวิตเตอร์ได่ที่ @WWF_media