IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล 4 องค์กร ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก,กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ชคท.)”ขึ้น เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามจากสภาพอุตสาหกรรมธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบันทำให้เกิดสภาวะโครงข่ายฯ เกินความต้องการ(Over Supply) เนื่องจาก กสทช. ออกใบอนุญาตไม่เป็นไปตามแผน โดยออกใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายจำนวน 5 โครงข่าย (5MUX) ซึ่งมีจำนวน 38 ช่องสัญญาณ แต่ออกใบอนุญาตฯ ผู้ให้บริการช่องรายการจำนวน 26 ช่องรายการ ทำให้จำนวนช่องสัญญาณมีเกินกว่าช่องรายการจำนวน 12 ช่องสัญญาณ และเกิดอำนาจต่อรองจากผู้เช่า เช่น ผู้ให้บริการช่องรายการขอลดอัตราค่าเช่า การชำระค่าเช่าล่าช้า มีแนวโน้มการไม่จ่ายค่าเช่าและย้ายไปเช่าโครงข่ายอื่น ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการโครงข่ายเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและภาระหนี้สิน
โดยชมรมฯมีเรื่องเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการ คือ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้
- แนวทางระยะสั้น
ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะร่วมกันพิจารณาและหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น แนวทางการบริหารต้นทุนร่วมกัน ,การกำหนดมาตรฐานของราคาค่าบริการ , การกำกับดูแลกันเอง การเจรจาและให้คำปรึกษากับผู้เช่าใช้บริการโครงข่ายฯ
- แนวทางระยะกลาง
เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายฯ , กสทช, และรัฐบาล เพื่อการแก้ปัญหาผลกระทบของทรัพย์สินรัฐที่รับภาระแทน กสทช ฯ เช่น โครงการแก้ปัญหาและเยียวยาจำนวนช่องรายการที่ว่างอยู่ในโครงข่าย ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทและข้อบังคับของ กสทช
- แนวทางระยะยาว
เป็นการเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จากสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันต่อรัฐบาล หรือ กสทช.และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสนอให้ กสทช.ดำเนินการ National Mux service center ในการรวมโครงข่ายฯ ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่บริหารจัดการหรือจัดตั้งเป็นโครงข่ายฯ การให้บริการแห่งชาติเพื่อให้ได้มาตรฐาน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ