IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 2/2560 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงตามความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม
สาระสำคัญ กำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตไปพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและให้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในคณะกรรมการฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการและเป็นจุดบริการรวมศูนย์หรือวันสต๊อปเซอร์วิส และเสนอพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเขตพัฒนาภาคตะวันออกเป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ให้คณะกรรมการฯ เห็นชอบ
กำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการและผู้อยู่อาศัยภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้ สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าวซึ่งประกอบกิจการและอยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับสิทธิฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง 50 ปีและต่อสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี โดยไม่ต้องรับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือภายใต้การจำกัดสิทธิชองคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร ซึ่งต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ หรือคู่สมรสและบุคคลในอุปการะ สิทธิในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสิทธิประโยชน์อื่น
กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อพัฒนาพื้นที่ ชุมชนและประชาชน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ทั้งนี้ให้เสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ภายใน 5 เดือน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ