November 25, 2024

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

Create an account

Fields marked with an asterisk (*) are required.
Name *
Username *
Password *
Verify password *
Email *
Verify email *
Captcha *
Reload Captcha

สถาบันอาหาร แถลงความสำเร็จ 2 โครงการใหญ่ หนุนสร้างเครือข่าย SME และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล สร้างยอดขายกว่าพันล้านบาท

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า///สสว. ผนึกสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงความสำเร็จ 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ "โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย" มีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการต้นน้ำถึงปลายน้ำทั่วประเทศ

เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายมะพร้าวและกล้วยรวม 2,300 ราย สร้างการรวมกลุ่มได้ 17 เครือข่าย คาดสร้างยอดขายเบื้องต้นรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาทในปีแรก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ส่งท้าย สร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ ณ ลานกิจกรรมหน้าลิฟท์แก้วชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า

พร้อมมอบรางวัล Success Case เผย "นมมะพร้าวอัดเม็ด" จากคลัสเตอร์มะพร้าวสวรรค์คายเลยร้อย(นครสวรรค์ หนองคาย เลย และร้อยเอ็ด) คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ส่วน"โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง" มุ่งเพิ่มขีดความสามารถ ต่อยอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าให้ SME ทั่วประเทศรวม 2,005 ราย สร้างจุดเด่นด้านดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ และการเก็บรักษา ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น คัดสินค้าที่มีศักยภาพมาพัฒนาเชิงลึก 1,000 ผลิตภัณฑ์ เชื่อสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี 

นางลักขณา ตั้งจิตนบ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศ ปฏิบัติงานฝ่ายติดตามและประเมินผลคลัสเตอร์ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 สร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์

โดยในกลุ่มมะพร้าวนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ส่วนกลุ่มกล้วยเพิ่งเริ่มดำเนินการเป็นปีแรก ได้รับการตอบรับจาก SME เป็นอย่างดี บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 1,350 ราย และกลุ่มกล้วย 950 ราย ได้คัดเลือกผู้ประสานงานเครือข่ายไว้จำนวน 54 ราย (มะพร้าว 33 ราย และกล้วย 21 ราย) เกิดการรวมกลุ่มเครือข่าย 17 กลุ่ม แบ่งเป็นมะพร้าว 10 เครือข่าย และกล้วย 7 เครือข่าย 

"ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับความรู้ และประสบการณ์ในหลายด้าน ทั้งการยกระดับมาตรฐานการผลิต การนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้และยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งเห็นผลสำเร็จด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นรูปธรรมได้ 17 ผลิตภัณฑ์จาก 17 เครือข่าย อาทิ น้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมเนื้อฟรีซดรายมะพร้าวอบรสเมี่ยงคำ นมมะพร้าวอัดเม็ด น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมะพร้าวเกลือแร่ฟรีซดราย เป็นต้น สำหรับเครือข่ายกล้วย ซึ่งเพิ่งได้รับการสนับสนุนเป็นปีแรก รวม 7 เครือข่าย มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา อาทิ ผงกล้วยบรรจุแคปซูล ผลิตจากกล้วยน้ำว้าปลอดสารพิษ มีสรรพคุณแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กรดไหลย้อน และบรรเทาอาการโรคกระเพาะ น้ำหวานกล้วยเข้มข้น แป้งกล้วยน้ำว้า สำหรับใช้ทำเบเกอรี่และอาหาร และ กล้วยม้วนหรือทองม้วนรสกล้วยหอม เป็นต้น 

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมการทำตลาดต่างประเทศ โดยการนำสินค้าจาก 17 กลุ่มเครือข่ายไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้า และจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ ประเทศจีน ซึ่งได้รับการตอบรับดีมียอดคำสั่งซื้อราว 32 ล้านบาท เมื่อรวมกับตลาดในประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการจับคู่ธุรกิจกับห้างค้าปลีก-ค้าส่งที่มีชื่อเสียงในประเทศ และการออกบูธแนะนำสินค้าในงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ หลายครั้ง ประเมินว่าจะสร้างยอดขายรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาทในปีแรก"

นางลักขณา กล่าวต่อว่า สำหรับ "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง" เป็นอีกโครงการหนึ่งที่สสว.ได้ร่วมมือกับสถาบันอาหาร เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME รวม 2,005 รายทั่วประเทศ ในกลุ่มอาหารถิ่น และสมุนไพร จำนวน 1,780 ราย และเครื่องสำอาง จำนวน 225 ราย โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้พื้นฐานด้านมาตรฐานสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ในด้านดีไซน์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการเก็บรักษา พัฒนามูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นด้วย อัตลักษณ์ของท้องถิ่น และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าสู่การพัฒนาเชิงลึก 1,000 ผลิตภัณฑ์ อาทิ เค็มบักนัด อาหารถิ่นซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณในการถนอมอาหาร โดยนำสับปะรดและเนื้อปลาสดมาหั่นชิ้นเล็กๆ เคล้ากับเกลือป่นบรรจุใส่ขวดปิดฝาหม้กจนได้ที่ นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร

ซึ่งภายใต้โครงการ ได้มีการพัฒนาเค็มบักนัดทำเป็นหลนอบแห้ง โดยใช้เทคโนโลยีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ที่เรียกว่าฟรีซดราย (Freeze dry) มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรักษารสชาติ สีและคุณค่าทางโภชนาการ ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างครบถ้วนมากที่สุดและสามารถกลับคืนสู่สภาวะเดิมได้เมื่อเติมน้ำ สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้อย่างน้อย 1-2 ปี โดยไม่ต้องเก็บในห้องเย็น สะดวกต่อการขนส่ง และการกระจายสินค้า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารถิ่น สมุนไพร และเครื่องสำอางเพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้สามารถกระจายสินค้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ เช่น ขนมข้าวตอกตั้ง ขนมโบราณจากจังหวัดเพชรบุรี ขนมผูกรัก ขนมท้องถิ่นจากภาคใต้ น้ำพริกจิ้งหรีดจากจังหวัดร้อยเอ็ด และแชมพูสมุนไพรรากฟักข้าว ซึ่งมีสรรพคุณทำให้ผมดกดำ แก้ปัญหาผมร่วง ลดอาการคันศีรษะ เป็นต้น คาดว่าโครงการฯ นี้จะก่อให้เกิดรายได้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี 

ด้าน นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมสุดท้ายก่อนปิดโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยนั้น ได้แก่ การจัดประกวดและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวและกล้วยไทยเพื่อหา Success Case จาก 17 เครือข่าย ที่มีศักยภาพในการสื่อสารแบรนด์รวมถึงการขยายตัวผ่านช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ และจัดให้มีการประกาศและมอบรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ โดยผลการตัดสินมีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ "นมมะพร้าวอัดเม็ด" 

จากคลัสเตอร์มะพร้าวสวรรค์คายเลยร้อย(นครสวรรค์ หนองคาย เลย และร้อยเอ็ด) รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ "แป้งกล้วยน้ำว้า" จากคลัสเตอร์กล้วยกาญจน์(กาญจนบุรี) รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ "ผงกล้วยบรรจุแคปซูล" จากคลัสเตอร์กล้วยคลองเจ็ด(ปทุมธานี) รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ "น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น" จากคลัสเตอร์พร้าวพานน้อย(บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์) "มะพร้าวอบรสเมี่ยงคำ" คลัสเตอร์มะพร้าวมิตรภาพ(สระบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก) และ"น้ำมะพร้าวน้ำหอมพร้อมเนื้อฟรีซดราย" คลัสเตอร์มะพร้าวเบสท์โคโคนัท(สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี)

สำหรับ "โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพรและเครื่องสำอาง" สถาบันอาหารได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "ความรู้พื้นฐานด้านมาตรฐานสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์" ให้แก่ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มอาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง ในพื้นที่ 14 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ภาคกลาง ได้แก่ นนทบุรี สระบุรี ภาคเหนือ ได้แก่ น่าน และพิษณุโลก ภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง และจันทบุรี และภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี สงขลา ยะลา และสตูล 

หลังจากนั้น ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมที่มีศักยภาพโดดเด่นมารับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ในเชิงลึก จำนวนทั้งสิ้น 500 ราย รวม 1,000 ผลิตภัณฑ์ เป็นการทำเวิร์คชอปจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมจัดทำข้อมูลรายละเอียดเนื้อหาผลิตภัณฑ์สู่สาธารณะ และเตรียมพร้อมนำออกสู่ตลาด โดยได้นำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจบางรายการมาจัดแสดงร่วมกับผลิตภัณฑ์มะพร้าวและกล้วยภายในงานวันนี้ด้วย

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Saturday, 13 October 2018 10:07

Leave a comment

Make sure you enter all the required information, indicated by an asterisk (*). HTML code is not allowed.


  
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM