IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
“อุตตม” เตรียมออกมาตรการใหม่ช่วย SMEs สัปดาห์หน้า พร้อมโอนกองทุนเอสเอ็มอี 20,000 ล้านบาท ให้ SME Bank บริหารแทน สสว.
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ 6 กลุ่มจังหวัด ซึ่งมีอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11 แห่ง ส่งแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในแต่ละจังหวัด โดยต้องระบุรายละเอียดว่ามีกี่ราย ทำธุรกิจอะไรให้ชัดเจน รายงานมายังกระทรวงอุตสาหกรรมภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อรัฐจะออกมาตรการใหม่ในการช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน และไม่ใช่ด้านการเงินภายในเดือน พ.ย. 2560 นี้ ซึ่งต่อยอดจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ (20,000 ล้านบาท) และกองทุนอื่น ๆ เช่น กลุ่มภาคเหนือ 17 จังหวัดเสนอโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ครีเอทีฟ และการแพทย์ครบวงจร โดยใช้คูปอง SMEs หรือมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้ SMEs เพื่อป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยมี 8 ธนาคารมีโครงการบริหารความเสี่ยงมาช่วย
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมโอนกองทุนพลิกฟื้น (วงเงิน 2,000 ล้านบาท) และกองทุนฟื้นฟู (วงเงิน 1,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทางการเงินของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank รับไปบริหารและพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโดยตรง โดย สสว.ยังคงดูแลในส่วนของโครงการสนับสนุนทางด้านอื่นที่เชี่ยวชาญต่อไป
“นอกจากนี้ ใช้โครงการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) มาเป็นเครื่องมือสนับสนุน SMEs ให้เข้มแข็ง โดยดึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้คำปรึกษาเบื้องต้น 20 บริษัท อาทิ บริษัทสยามมอเตอร์ฯ”
รวมทั้งให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และ สสว. เตรียมสร้างแพลตฟอร์มรูปแบบเว็บไซต์ T-Good Tech ขึ้นมา โดยนำ SMEs ในแต่ละโครงการของรัฐ 5,000 ราย เข้าไปทำการเชื่อมโยงซัพพลายเชน อย่างการเปิดเผยข้อมูลประเภทธุรกิจ ความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นต้น ล่าสุดองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ไทย 1 คน เพื่อช่วยทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยง SMEs ไทยกับไทย ในอนาคตจะเชื่อมไทยกับญี่ปุ่น ในโครงการ J-Good Tech และไทยกับ CLMV รวมถึงเร่งออกมาตรฐาน SMEs และผู้ประกอบการใหม่ ให้ได้ มอก. lite เพื่อดันเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ
ที่มา : Nikkan Kogyo Shimbun