January 21, 2025

ถมที่ เรื่องต้องรู้ก่อนสร้างบ้าน

โดย : บริษัท เอส.เค.อาร์. คอนสตรัคชั่น 2002 จำกัด

ก่อนจะมีการสร้างบ้านใหม่ สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องรู้เป็นอันดับต้นๆ ก็คือเรื่องของการถมที่ดิน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทราบไว้ เพราะที่ดินนั้นจะเป็นรากฐานที่สร้างความมั่นคงให้กับบ้าน และปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็มักจะหันมาใช้งบประมาณในการปลูกบ้านบนที่ดินของตนเองมากขึ้น จากราคาของบ้านเดี่ยวจัดสรรที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปแล้ว และการปลูกสร้างเองก็สามารถควบคุมงบประมาณได้ง่ายกว่า

ดังนั้นสำหรับใครที่มีงบในการหาที่อยู่อาศัยในจำนวนจำกัด ได้เวลาหาซื้อที่ดินเก็บไว้ หรือ นำที่ดินอันเป็นสมบัติเก่าเก็บมาจัดการถมที่ดินใหม่เพื่อใช้ในการสร้างบ้านกันดีกว่า แต่ทั้งนี้เอง อันดับแรกก็ต้องมาทำความรู้จักกับปัจจัยต่างๆ สำหรับการถมที่ดินของตัวเองก่อน เนื่องจากการถมที่ดินนั้นถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะมีเรื่องของกฎหมาย ประวัติที่ดิน และผู้รับเหมามาเกี่ยวข้อง หากใครคิดที่จะส้รางบ้านจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนที่จะทำการถมที่ดิน โดยจะแบ่งออกเป็น

 

 

ก่อนถมที่ดินใหม่ ระวังไว้เรื่องกฎหมาย

 

 

ก่อนทิ่คิดจะปลูกบ้านบนที่ดินของตนเอง สิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องศึกษาก็คือเรื่องกฎหมายสำหรับการถมที่ดิน ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างบ้าน หากไม่ทำการศึกษาอาจทำให้การถมที่ดินส่งผลกระทบไปสู่ที่ดินข้างเคียงของผู้อื่นให้เสียหายได้ ดังนั้นการถมที่ดินจึงมีข้อบังคับให้อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 จะมีประเด็นหลักที่ต้องดูด้วยกัน 3 ข้อ คือ

1.หากเจ้าของที่ดินจำเป็นต้องทำการขุดดิน โดยมีความลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่น (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล) และทำการขุดตามแบบที่เจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่นกำหนด

2.หากพื้นที่ที่ขุดดินมีความลึกจากระดับพื้นดินไม่เกิน 3 เมตร แต่อยู่ใกล้แนวเขตที่ดินของผู้อื่นในระยะน้อยกว่าสองเท่าของความลึกของบ่อดินที่จะขุด ต้องจัดการป้องกันการพังทลายของดินตามวิสัยที่ควรกระทำ เพื่อป้องกันดินทลายลงสู่พื้นที่ข้างเคียง

3.การถมที่ดินสูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียง หากจะทำการถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินต่างเจ้าของที่อยู่ใกล้เคียง และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ข้างเคียง

 

 

ป้องกันปัญหาหลังการถมดิน ด้วยการเช็คประวัติที่ดิน

 

สิ่งต่อไปหลังจากรู้กฎหมายเบื้องต้นในการถมที่ดินแล้ว คือตรวจเช็คประวัติที่ดินที่ตัวเองกำลังสนใจหรือถือครองไว้อยู่ ซึ่งในแง่ของคนที่กำลังคิดจะซื้อที่ดินนั้น จำเป็นจะต้องตรวจเช็คประวัติที่ดินนั้นๆ อยู่แล้วเป็นประเด็นสำคัญ แต่บางคนมีที่ดินเก็บไว้เป็นเวลานานแล้ว ก็ต้องกลับมาตรวจเช็คที่ดินของตัวเองกันใหม่ก่อนจะถมที่ดินหรือสร้างบ้าน เนื่องจากการเอาที่ดินเก่าเก็บมาสร้างบ้านนั้นจะมีปัจจัยของระยะเวลามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาที่ดินของคุณอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม การพังทลายของดินมาก่อน ดังนั้นก่อนที่จะถมดินก็ต้องมาทำความรู้จักที่ดินของตัวเองใหม่

1.ตรวจสอบประวัติการเกิดอุทกภัย สิ่งแรกที่ควรจะตรวจสอบเลยก็คือประวัติน้ำถ่วมบนพื้นที่โดยพิจารณาจากก่อนย้อนไปดูข่าวเก่า หรือ สอบถามจากคนพื้นที่ เพื่อเช็คระดับสูงสุดที่น้ำเคยท่วมถึง รวมไปถึงเช็คระดับน้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะ โดยติดต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ  เพื่อจะประมาณการถมดินให้สูงกว่าระดับดังกล่าว เพื่อป้องกันอุทกภัย และให้น้ำระบายออกมาจากพื้นที่ดินในบ้านได้

2.เช็คระดับดินพื้นที่ดินบริเวณค้างเขียง และถนนหน้าบ้าน เพื่อจะได้ทำการถมดินให้สูงกว่า โดยส่วนใหญ่จะมักจะถมให้สูงกว่าถนนหน้าบ้านประมาณ 50 – 80 ซม. แต่จะอยู่ระดับที่ใกล้เคียงกับที่ดินเพื่อนบ้าน จะไม่นิยมถมที่ดินให้สูงเกินกว่านี้ เนื่องจากพื้นที่ระหว่างที่ดินของบ้านกับถนนสาธารณะจะมีความลาดชันมากเกินไป และอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมที่ดินข้างเคียง โดยเฉพาะที่สำคัญการถมที่ดินสูงกว่า 80 ซม. ก็มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดแรงดันจนรั้วบ้านเสียหายได้

 

 

เช็คราคาการถมที่ดินเบื้องต้น ระวังผู้รับเหมาปล้นโดยไม่รู้ตัว 

 

 

เมื่อรู้ข้อกฎหมายการถมที่ดิน รู้ประวัติที่ดินของตนเอง ทีนี้ก็มาดูค่าใช้จ่ายในการถมที่ดินกัน ซึ่งโดยทั่วไปการถมที่ดินนั้นจะมีราคาไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายๆ อย่าง อาทิ ระยะทางในการขนส่ง ขนาดพื้นที่ สภาพที่ดิน เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นเจ้าของที่ดินที่อยากจะสร้างบ้านในราคาที่ประหยัด อยู่ในงบประมาณก็ควรเริ่มต้นศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายตั้งแต่การถมที่ดินเลย เนื่องจากผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะคิดราคาการถมที่ดินไม่เหมือนกัน บางรายคิดเป็นคันรถ บางรายคิดเป็นคิว แต่จะคิดราคาเหมารวมกับค่าบดอัด

ทั้งนี้เองเจ้าของที่ดินสามารถเปรียบเทียบและคำนวณหาผู้รับเหมาที่ถูกที่สุดได้โดยการแปลงพื้นที่ดินจากตารางวาให้เป็นตารางเมตรด้วยการเอา ขนาดพื้นที่ดิน (ตารางวา) x 4 = พื้นที่ตารางเมตร

ตัวอย่าง ที่ดิน 50 ตารางวา x 4 = 200 ตารางเมตร

พอได้ผลลัพธ์ที่เป็นขนาดที่ดินแบบตารางเมตรแล้วก็มาคำนวณความสูงของดินที่จะถม โดยนำ ความสูงในการถมที่ดิน (เมตร) x พื้นที่ตารางเมตร = ปริมาณดินที่ต้องการใช้ (คิว)

ตัวอย่าง ต้องการถมที่ดินสูง 2 ม. X 200 ตารางเมตร = ดิน 400 คิว จากนั้นให้เผื่อราคาการบดอัดด้วยการนำ ปริมาณดินที่ต้องการใช้ (คิว)  x 30% =  400 x 30% = 400 + 120 = ที่ดินของคุณต้องการใช้ดินสำหรับถมที่ดินประมาณ 520 คิว

จากนั้นก็ลองเอาตัวเลขที่ได้ตรงนี้ไปเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้รับเหมาแจ้งมา ระหว่างการคิดราคาเป็นคันรถ (ขึ้นอยู่กับว่ารถบรรทุกดินได้กี่คิว) กับราคาที่คิดเป็นคิว ว่าการคิดราคาแบบไหนจะถูกกว่ากัน

ทีนี้พอรู้วิถีการถมดินในเบื้องต้นแล้ว เมื่อมีการปลูกสร้างบ้านก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาภายหลัง แถมยังช่วยประหยัดงบในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านอันเป็นปัญหาที่เกิดจากดินทรุดตัวในอนาคตด้วย ดังนั้นก่อนจะสร้างบ้านนอกจากการศึกษาโครงสร้างตัวบ้าน กฎหมายอาคาร เรื่องของที่ดินก็เป็นส่วนสำคัญมากที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการสร้างบ้าน

ให้คำปรึกษาปัญหาการถมที่ดิน ฟรี!

บริษัท เอส.เค.อาร์. คอนสตรัคชั่น 2002 จำกัด

โทร : 081-940 2754

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 22 February 2019 03:21
X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM