December 22, 2024

GUNKUL สตรอง! กำไร Q3 ผงาดพุ่ง 835.21% ส่งซิกโค้งสุดท้ายสัญญาณบวก เตรียม COD อีกกว่า 330 MW

บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ศักยภาพเปี่ยมล้น โชว์กำไรไตรมาส 3/61 พุ่งเป็น 715.72 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 639.19 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 835.21% ส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าและรายได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 210%

"โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์" ระบุแนวโน้มไตรมาส 4 ทิศทางธุรกิจยังเป็นสัญญาณบวก และถือเป็นสถิติใหม่ทั้งรายได้และผลกำไรนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่เตรียม COD กว่า 330 เมกะวัตต์ และเตรียมประมูลเพิ่มอีกเพียบ ทำให้มั่นใจรายได้ทั้งปีโตตามเป้า 30%

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 3/261 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลกำไรสุทธิ 715.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 76.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 639.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 835.21% 

สำหรับสาเหตุที่ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของกลุ่มบริษัท GUNKUL เติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้า

และรายได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 603.03 ล้านบาท และ 530.47 ล้านบาท ตามลำดับ หากเทียบกับงวดเดียวกันกับปีก่อนเท่ากับ 272.71 ล้านบาท และ 91.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นรวม 768.92 ล้านบาท หรือคิดเป็น 210.91% เนื่องจากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในโครงการลมทั้ง 3 แห่งของบริษัทฯ ดำเนินการเสร็จสิ้น ประกอบกับกับไตรมาส 3 ของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีกระแสลมแรงและส่งผลต่อรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนโดยตรง 

ส่วนงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 รายได้รวมเท่ากับ 4,747.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 3,641.36 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.37% เนื่องจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 2,050.90 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 1,087.94 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 88.51%

นางสาวโศภชา กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานช่วงที่เหลือปีนี้ของกลุ่มบริษัทฯ เชื่อว่าน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมและจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ COD ไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ ณ สิ้นปี 2561 บริษัทฯ จะดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เข้าระบบประมาณ 330 เมกะวัตต์ ทำให้มั่นใจว่ารายได้รวมปีนี้จะเติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 30% โดยบริษัทฯ ได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 38 เมกะวัตต์ติดตั้ง ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการคิมิสึ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ อีกจำนวน 38 เมกะวัตต์ติดตั้ง 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ได้เป้าหมายเมกะวัตต์สะสมไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันบริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวมกันแล้วประมาณ 550 เมกะวัตต์ และเตรียมประมูลเพิ่มอีกหลายโครงการ "ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปีนี้ถือว่าออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เพราะสามารถเติบโตทั้งรายได้และกำไรจากธุรกิจผลิตและจัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าการจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าพลังงานลม รวมถึงการให้บริการด้านบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ซึ่งทุกภาคส่วนถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นเข้าร่วมประมูลงานด้านต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่" นางสาวโศภชากล่าวในที่สุด

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Tuesday, 20 November 2018 06:18
กัลยรัตน์ กิจศิริวัชรโชติ

Author : เกาะติดข่าวพลังงาน พลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานสะอาด โรงไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าช การขนส่งพลังงาน นโยบายรัฐ สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM