IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | [email protected]
หลายเสียงบอกว่า บล็อกเชนจะยังเป็นสิ่งที่ไม่เป็นรูปธรรม และเดาไม่ออกว่าจะมีหน้าตาอย่างไร จนกระทั่งมันเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งน่าจะเป็นวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงกับการเกิดขึ้นของ “อินเทอร์เน็ต” กว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว
คีย์ไอเดียของบล็อกเชน คือเป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ทำให้ทุกคนในเครือข่ายรับรู้ได้ว่าใครคือเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ จริง ๆ
ในงาน “ADES 2018 (ASEAN Digital Economy Summit) brought by Blockchain” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันนวัตกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน ร่วมกับหน่วยงานด้านสื่อจากจีนแผ่นดินใหญ่ อาทิ China Report มีสตาร์ตอัพในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งไต้หวัน จีน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเข้าร่วมหลายร้อยราย
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “สตีเฟน ซูฮาดี” ประธานสมาคมบล็อกเชนแห่งอินโดนีเซีย ประเทศซึ่งสตาร์ตอัพเฟื่องฟู ดึงดูดเงินลงทุนด้านไอทีจากต่างชาติได้เป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน ทั้งยังมีโอกาสขึ้นแท่นเป็นฮับบล็อกเชนในอนาคต ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีประชากรกว่า 200 ล้านคนในประเทศ
สตีเฟนเล่าว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมาะสมกับการพัฒนาบล็อกเชนจากความพร้อมและโอกาสหลายด้าน อาทิ ประชากรกลุ่มประเทศอาเซียนข้ามยุคเทคโนโลยี “แล็ปทอป” สู่ “สมาร์ทโฟน”อย่างก้าวกระโดด และมีตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตและเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ อยากรู้และอยากลอง นอกจากนี้ยังชอบทำการค้า สนใจอีคอมเมิร์ซ และมีความหลากหลายภายในประเทศแทบทุกประเทศ
“ขอยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งผมคิดว่าเหมาะมากกับการพัฒนาบล็อกเชน เป็นที่รู้กันดีว่าอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และมีเกาะแก่งกว่าหมื่นเกาะ ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนในการจัดเก็บข้อมูลหรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ บล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ปัญหานี้ได้”
สตีเฟนย้ำว่า บล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่โลกยุคปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพราะถือเป็นเครื่องมือการแก้ปัญหาแบบ logical solution (การแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผล) สร้างความสอดคล้อง (consensus) กันระหว่างข้อมูล เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน ไม่ใช่เพียงแค่เอกชนเท่านั้นที่จะใช้ประโยชน์ได้ แต่รัฐบาลก็นำบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย เช่น การจัดเก็บภาษี จะทำให้การเลี่ยงภาษีเป็นไปได้ยาก เชื่อได้ว่าจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่ม 2-3 เท่าเลยทีเดียว
ด้าน “เอริค จาง” เลขาธิการสถาบันนวัตกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน ซึ่งในอดีตเขาเคยทำงานในบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศจีน ก่อนขยับมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนสตาร์ตอัพในกลุ่มประเทศอาเซียน สะท้อนมุมมองว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสทางด้านเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ ในแง่ตลาด คน และการอุดหนุนของรัฐบาลในบางประเทศ
โดยเอริคยกตัวอย่างประเทศไทย ว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสสูง เพราะเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ ผู้คนที่หลากหลายและเปิดกว้างด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่ถือว่าก้าวหน้าโดดเด่นในอาเซียน โดยเฉพาะด้านฟินเทคที่ค่อนข้างเปิดเสรี
ทั้งนี้ เขาได้เสนอว่า การพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนที่แข็งแกร่ง ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะมีรูปแบบการผลักดันแตกต่างกันไป อย่างประเทศจีนที่เป็นประเทศที่กระเป๋าเงินดิจิทัลเฟื่องฟูมากจนแทบไม่มีคนพกเงินสด ก็เกิดจากการผลักดันทั้งจากรัฐและเอกชน
“ในประเทศจีน แม้ดิจิทัลเพย์เมนต์จะเกิดขึ้นโดยการผลักดันของภาคเอกชนเมื่อเริ่มแรก แต่รัฐก็เข้ามาช่วยสนับสนุน จนเทคโนโลยีดังกล่าวไปได้ไกลมากในปัจจุบัน” เอริคระบุ ก่อนย้ำว่า ในประเทศจีนปัจจุบันค่อนข้างเสรีในด้านดิจิทัลเพย์เมนต์ และมีการบรรจุนโยบายเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปีข้างหน้าแล้ว เร็ว ๆ นี้คาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นอันดับถัดไป
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ