Print this page

“เหมราช” โชว์ 400 บริษัท พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ส่อเค้าแจ้งเกิด หลัง WHA เผย 400 บริษัทในนิคมฯเหมราช เล็งลงทุนหลายหมื่นล้าน เปลี่ยนเครื่องจักรในกระบวนการผลิต

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ผู้ให้บริการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เปิดเผยภายหลังการพานักลงทุนในนิคม 30 บริษัทเข้าพบรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ว่า นักลงทุนต้องการทราบทิศทางเรื่องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพราะจากการสำรวจความพร้อมของนักลงทุนในนิคมจำนวน 800 บริษัทพบว่า กว่า 400 บริษัทเตรียมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในกระบวนการผลิต (transformation) คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เช่น บริษัทฟอร์ด, ฮิตาชิ และซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มทยอยลงทุนจริงปี 2561 ขณะที่บริษัท เอนก้า แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้าเพียงรายเดียวในนิคมที่ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ เตรียมขยายการลงทุนเพิ่มภายใต้มาตรการสนับสนุนที่รัฐประกาศ

ตอนนี้ WHA ได้เสนอนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 8 แห่งในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทยอยเป็นพื้นที่เขตส่งเสริม เพื่อเตรียมไว้รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) เพราะมีพื้นที่พร้อมขายถึงประมาณ 10,000 ไร่ ปีนี้คาดยอดขายคงถึง 13,000 ล้านบาท พื้นที่ 1,400 ไร่ และในวันที่ 23 พ.ย. 2560 นี้ได้เตรียมลงพื้นที่นิคม เหมราช จ.ระยอง พร้อมคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพบปะกับนักลงทุนโดยตรง เพื่อสร้างความมั่นใจ

“มาตรการของรัฐช่วยจูงใจในการสร้าง ความต้องการ (demand) ของระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตในขั้นเริ่มต้นก่อน ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสร้างบุคลากร เช่น การหักค่าใช้จ่ายหรือหักค่าเสื่อมอัตราเร่ง/หักค่าเสื่อมเพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อซื้อระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ (ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40%) และหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าสำหรับการอบรมบุคลากร หรือมาตรการทางการเงินจะช่วยประสานสถาบันการเงินในการจัดสรรวงเงินสินเชื่อในการปรับปรุงกระบวนการผลิต, มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากบีโอไอ ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี สัดส่วน 50% ของเงินลงทุน และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เมื่อภาพรวม 5 ปีเป็นไปตามเป้าจากนั้นจึงจะเข้าสู่การสร้าง supply”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนจำนวน 30 บริษัท เป็นเอกชนไทยประมาณ 60% และต่างชาติ 40% ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นต้น มีความพร้อมที่จะลงทุนปรับเปลี่ยนลงทุนเครื่องจักร โดยขั้นแรกในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ลงทุนอยู่แล้วในพื้นที่ EEC จึงถือว่าเป็นการขยายการลงทุน และมีอีก 8 บริษัทที่เคยลงนามไปก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่าการลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งปรับปรุงเครื่องจักรเช่นกันและมีบางบริษัทพร้อมลงทุนผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ และประกอบหุ่นยนต์ในประเทศไทย

“วันนี้เอกชนเข้ามาหารือกับเรา บีโอไอ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมศุลกากร โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมฯจากรัฐที่ออกมาเป็นแพ็กเกจส่งเสริม เพราะมีทั้งการกระตุ้นการใช้ทั้ง demand และ supply มาตรการการเงินที่จะช่วย SMEs ต่าง ๆ แต่ยังไม่สามารถประเมินเงินลงทุนจริงได้ แผนเชิงปฏิบัติครั้งนี้จะทำช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมไทยและให้เกิดการลงทุนในประเทศ จากนี้เชื่อว่าจะมีเอกชนอีกหลายกลุ่มเข้ามาหารือแสดงความพร้อมเรื่องลงทุนเพิ่มอีก”

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวะนี้นับว่าเป็นช่วงที่เหมาะสมของบริษัทเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรให้เป็นระบบอัตโนมัติหรือใช้หุ่นยนต์ในโรงงานผลิต เพราะรัฐมีมาตรการสนับสนุนอยู่แล้วจึงไม่ยากที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องแข่งขันในตอนนี้

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Tuesday, 23 October 2018 12:00
กนิษฐา กาญจนกวี

Author : เกาะติดข่าวเทคโนโลยี  IT Business, Social Media, Gadget review, Marketing, Startup, Blockchain และ Cryptocurrency, Tech Startup และ Business Innovations, ฯลฯ

Latest from กนิษฐา กาญจนกวี

Related items

X

ลิขสิทธิ์ของ IM

ห้ามผู้ใดทำซ้ำ คัดลอก ลอกเลียน ดัดแปลง ปลอมแปลง จัดเผยแพร่ เรียกดึงข้อมูล บันทึก ส่งผ่าน หรือกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและทรัพย์สินทางปัญญาของ IM