IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายกิตติกรณ์ พินิจวงศ์วิทยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอีวี จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถบัสโดยสารภายใต้แบรนด์ยูทง (Yutong) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เปิดเผยว่า
หลังจากกรมการขนส่งทางบกดำเนินนโยบายเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่วิ่งในเส้นทางหมวด 2 (กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ระยะทางเกิน 300 กิโลเมตร) ที่มีอายุการใช้งานครบ 10 ปี ให้ทยอยเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารขนาดเล็ก (Mini Bus) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และมีโครงการจะเปลี่ยนรถโดยสารที่หมดอายุสัมปทาน ใน 4 หมวด ได้แก่หมวดที่ 1 ซึ่งวิ่งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 หมวดที่ 2 วิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด ระยะทางเกิน 300 กิโลเมตร บังคับใช้ 1 ต.ค. 2560
หมวดที่ 3 วิ่งระหว่างจังหวัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ 1.มีจุดแวะจอด บังคับเปลี่ยน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และ 2.ไม่มีจุดจอด บังคับใช้ 1 ต.ค. 2562 และหมวดที่ 4 วิ่งจังหวัดเข้าไปยังอำเภอต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. 2562
จะเห็นได้ว่าตามกรอบระยะเวลาที่ทางภาครัฐกำหนดในส่วนของ หมวดที่ 2 และ 3 นั้นเริ่มมีผลบังคับไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากเส้นทาง กรุงเทพฯ-ราชบุรี เป็นเส้นทางแรกและจากการประเมิน การเก็บตัวเลขเบื้องต้น คาดว่าจะมีรถมินิบัส หรือไมโครบัสที่จะต้องเข้ามาเปลี่ยนหมุนเวียนทดแทนอยู่ในระบบไม่น้อยกว่า 20,000 คัน และยังมีรถโดยสารไม่ประจำทางอีกเกือบ 10,000 คัน ที่จะต้องหมุนเวียน เม็ดเงินน่าจะมากกว่า 3-5 หมื่นล้าน
ดังนั้นบริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสและช่องว่างในการเข้ามาเติมเต็มความต้องการของตลาด เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วน (เอสเคดี) รถมินิบัสภายใต้แบรนด์ยูทง จากประเทศจีนเข้ามาจำหน่าย เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว และคาดว่าความต้องการในตลาดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามียอดขายปีละ 50-100 คัน
โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดขายไม่น้อยกว่า 100 คัน และปี 2561 จากปริมาณความต้องการเปลี่ยนรถมินิบัสเข้ามาทดแทนรถตู้โดยสาร บริษัทตั้งเป้าว่าจะมียอดขายอย่างน้อย 1,000 คัน หรือมีส่วนแบ่งประมาณ 20% ของปริมาณความต้องการที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4,000 คันแบ่งเป็นรถโดยสารที่ต้องเปลี่ยนในระบบ 2,000 คัน และรถโดยสารที่เปลี่ยนโดยความสมัครใจอีก 2,000 คัน
สำหรับรถมินิบัส หรือไมโครบัส ที่บริษัทจำหน่ายในปัจจุบันมี 3 รุ่นหลัก ๆ ได้แก่ รุ่นไมโคบัส 7 เมตร ขนาด 20 ที่นั่ง, รุ่นมิดไซซ์ 9-10 เมตร ขนาด 30 ที่นั่ง และรุ่นฟูลไซซ์ 12 เมตร ขนาด 42 ที่นั่งโดยมีราคาจำหน่ายเบื้องต้นที่ 2.2 ล้านไปจนเกือบ 3.2 ล้านบาท แล้วแต่ออปชั่นที่ลูกค้าต้องการ
และเพื่อเป็นการรองรับกับตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น บริษัทมีแผนจะเพิ่มศูนย์บริการจำหน่าย ยูทง บาย อีวีเป็น 15 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่ที่บางนา, นครปฐม, รังสิต, รามอินทรา, เชียงใหม่, ภูเก็ต, อุบลราชธานี พัทยา โดยคาดว่าจะขยายเพิ่มไปยัง จ.นครสวรรค์, นครราชสีมา, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่ เบื้องต้นคาดว่าใช้งบประมาณต่อสาขา สาขาละ 3-5 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน
นอกจากนี้บริษัทจะทำการตลาดควบคู่ไปกับความพยายามหาลูกค้าเพิ่มเติม
นอกจากผู้ประกอบการขนส่ง กลุ่มบริษัทรถเช่าเพื่อการท่องเที่ยว หน่วยงานราชการ และบริษัทขนส่ง พนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม และรถโรงเรียน เพิ่มเติมด้วย
ด้านนายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่ง ยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยรุ่งฯอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการ
นำรถมินิบัสเข้ามาใช้งานในการขนส่งแทนรถตู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดค้น พัฒนารถมินิบัสไทยรุ่ง เพื่อแนะนำออกสู่ตลาด โดยเชื่อว่าจะเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างมีศักยภาพในอนาคต จากปัจจุบันความต้องการรถประเภทนี้มีอยู่ 16,000 คัน เชื่อว่าภายในระยะเวลา 6-7 ปีข้างหน้า ความต้องการของตลาดมินิบัสก็จะมีเพิ่มมากขึ้น
“ปีหน้าน่าจะได้เห็นรูปแบบและแนวทางการทำตลาดมินิบัสของเราอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบรนด์ไทยรุ่ง หรือการร่วมทุนกับบริษัทพันธมิตร”
ขณะที่แหล่งข่าวตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้ารายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 2-3 ปี ยอดขายรถตู้ของโตโยต้าลดลงจากระดับกว่า 1,000 คัน เหลือระดับ 600-700 คัน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากนโยบายความเข้มงวดและเปลี่ยนกฎเกณฑ์ข้อบังคับ
ส่วนกรณีที่กรมการขนส่งฯประกาศบังคับใช้ให้รถตู้โดยสารที่วิ่งระยะทางตั้งแต่ 300 กิโลเมตรขึ้นไปเปลี่ยนมาเป็นรถมินิบัสนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายรถตู้ของโตโยต้าอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้คงต้องรอดูความชัดเจนและการตอบรับของตลาด ว่าผู้โดยสารให้การตอบรับมากน้อยเพียงใด ทั้งในแง่ของระยะเวลา ในการเดินทางระยะเวลาในการรอรถ เนื่องจากเดิมผู้โดยสารเต็มคันแค่ 10-12 ที่นั่ง แต่มินิบัสมากถึง 22 ที่นั่ง รวมทั้งผู้ประกอบการเองจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จอดรถ ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ
แต่สำหรับโตโยต้า แม้ว่ายอดขายในตลาดของรถตู้โดยสารจะหายไปบ้าง แต่ตลาดใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวหน่วยงานราชการ ยังมีปริมาณค่อนข้างมาก ที่สำคัญปัญหาเรื่องรถตู้โดยสารนั้นหลักใหญ่ไม่ได้เกิดมาจากตัวรถ แต่มักเกิดจากผู้ขับมากกว่า ดังนั้นคาดว่า ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรที่จะบอกว่าการปรับเปลี่ยนจะดีหรือไม่ดี
รายงานข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์หอการค้าญี่ปุ่น พบว่า ยอดขายรถตู้โดยสารของค่ายโตโยต้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 7,191 คัน แบ่งเป็นไฮเอซ 360 คัน, คอมมิวเตอร์ 6,169 คัน, เวนจูรี่ 662 คัน, ส่วนนิสสันมียอดขายบิ๊กเออแวน 774 คัน
ขณะที่กรมการขนส่งทางบกรายงานยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่งโดยสารขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง ที่มีการจดทะเบียนระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม พบว่าโตโยต้ามีจำนวน 2,780 คัน, ฮุนได 2,801 คัน, เกีย 424 คัน, นิสสัน 388 คัน, เบนซ์ 164 คัน, เปอโยต์ 31 คัน, โฟตอน 21 คัน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ