IM สื่ออุตสาหกรรม เป็นสื่อสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารด้านบวก ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ธุรกิจ ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กลุ่ม SMEs ได้มีที่ยืน ได้มีโอกาสได้ใช้ช่องทางเคียงคู่ไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน อย่างยั่งยืน
บริษัท สื่ออุตสาหกรรม จำกัด | 02 11 585 22 | an6n@yahoo.com
นายซาโตชิ นิชิโนะ ผู้อำนวยการกองนโยบายการค้ารถยนต์ระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่น เปิดเผยในงานสัมมนาความร่วมมือญี่ปุ่น-ไทย เรื่อง “Next Generation Vehicled Symposium” ซึ่งจัดโดยเจโทร กรุงเทพฯ, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, สถาบันยานยนต์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าอุตสาหกรรมรถอีวี (อิเล็กทริกวีฮิเคิล) ในประเทศไทยหากต้องการให้เกิดภายในระยะเวลาอันใกล้ รัฐบาลไทยจะต้องสนับสนุนให้ครบทุกด้านเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ตั้งแต่สนับสนุนเงินอุดหนุนคนซื้อรถ โครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จไฟฟ้า ฯลฯ ส่วนตลาดส่งออกก็ต้องสนับสนุนประเทศปลายทางเพื่อให้ส่งออกได้ง่ายขึ้น
“เท่าที่ทราบรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมแค่มาตรการทางภาษีให้กับผู้ผลิตเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ ในญี่ปุ่นรัฐบาลอุดหนุนคนซื้อรถถึง 10% ของราคารถ มีโครงสร้างพื้นฐานครบในปี 2016 มีสถานีชาร์จไฟความเร็วสูงถึง 7,061 แห่ง และสถานีชาร์จไฟความเร็วปกติ 17,260 แห่ง และคาดว่าจะขยายสถานีชาร์จอิสระไปยังคอนโดฯหรืออาคารสำนักงานเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้ทำประเมินว่าในปี 2025 ญี่ปุ่นจะมีรถอีวีมากกว่า 95,000 คัน หรือ 0.37% รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริดคิดเป็น 0.22% และรถยนต์ไฮบริดคิดเป็น 30% และคาดว่าในปี 2030 ยอดใช้งานของรถอีวีและปลั๊ก-อินไฮบริดรวมกันมากถึง 20-30% หรือ 700,000-1 ล้านคันของรถทั้งหมด
ต่างจากประเทศไทยที่ระบุว่าปี 2036 จะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า 690 แห่งไม่เพียงพอแน่นอน อย่าลืมว่าเติมน้ำมันใช้เวลาเพียง 3 นาที แต่การชาร์จแบตความเร็วปกติ 8 ชั่วโมง และชาร์จแบตความเร็วสูงใช้เวลา 30 นาที”
นายนิชิโนะกล่าวอีกว่า รถอีวีเป็นเทคโนโลยีที่ใคร ๆ ก็ผลิตได้ แต่หากต้องการผลิตรถอีวีให้มีประสิทธิภาพใช้งานบนท้องถนนได้จริงต้องส่งเสริมให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะประเทศไทยพร้อมจะเป็นฮับได้แน่นอน เพราะมีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่แล้ว สามารถต่อยอดเพียงแค่เปลี่ยนการผลิตเท่านั้น และเป็นการต่อยอดความสัมพันธ์กับพาร์ตเนอร์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วน แต่อย่าชะล่าใจ ประเทศอื่นโดยเฉพาะจีนซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นอาจจะเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิต เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลจีนให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวี ส่วนแบตเตอรี่ก็เริ่มมีการผลิตแล้ว ยังมีประเทศในแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่แล้วเช่นกัน ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการตกลงกันในเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนารถอีวี ทั้งแบบ 2 ล้อ 3 ล้อ และรถบัสในอินเดียแล้วเช่นกัน
ด้านนายยูทากะ ซานาดะ รองประธานนิสสันของภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การทำตลาดของนิสสันในประเทศไทยตอนนี้ จะแนะนำรถรุ่นใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีอีพาวเวอร์ เครื่องยนต์เปี่ยมประสิทธิภาพ ส่งกำลังสูง ขับขี่ได้ดี, การขับขี่อัจฉริยะ ระบบขับขี่อัตโนมัติที่เน้นความปลอดภัย และการเชื่อมโยงอัจฉริยะ คือรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งอื่น ๆ และหมุนเวียนพลังงานมาใช้ได้ เช่น นิสสันลีฟ “ปัจจุบันนิสสันส่งรถอีวีใช้งานกว่า 318,000 คันทั่วโลก เป็นอันดับหนึ่ง เหนือกว่าเทสล่า และได้ผลิตแบตเตอรี่กว่า 61 ล้านเซลล์ที่มีการใช้งานจริง และไม่เคยเกิดอุบัติเหตุใหญ่เลยสักครั้ง”
ส่วนนายนิชิโนะ โทโมโอะ ผู้จัดการแผนกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียของโตโยต้า ระบุว่า โตโยต้าได้ใส่ใจกับเทคโนโลยีไฮบริดเพื่อเข้าสู่สังคม Co2 ต่ำ โดยมุ่งมั่นว่าในปี 2050 การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของยานยนต์รุ่นใหม่จะลดลง 90% เมื่อเทียบกับปี 2010 ทั้งนี้ กลยุทธ์ของโตโยต้า ปัจจุบันคือการทำให้รถยนต์ไฮบริดมีความแพร่หลายมากขึ้น โดยเล็งพัฒนาอีโคคาร์แบบไฮบริด โดยเทคโนโลยีไฮบริดของโตโยต้า เป็นเทคโนโลยีระดับสูง ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ได้